งานบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน
โครงการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน: แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
โครงการอบรมการป้องกันภัยพิบัติ:
จัดการอบรมหลักสูตรการเตรียมการป้องกันภัย และสนับสนุนอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยให้กับชุมชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยต่าง ๆ
ผู้ลี้ภัย (ชายแดนไทย-พม่า)
ที่ตั้ง: พื้นที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และ ราชบุรี
หลักการและเหตุผล: ให้การบรรเทาทุกข์แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนตามแนวชายแดนไทย-พม่า โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือลัทธิการเมือง
เป้าหมายและวัตถุประสงค์:
- แจกจ่ายสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่พักพิงชั่วคราวและราษฎรไทยใกล้พื้นที่พักพิง ฯ เพื่อให้การบรรเทาทุกข์ตามความจำเป็น
- ให้การอบรมความรู้ด้านเกษตรชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมประสบการณ์ และสร้างทักษะอาชีพ
อันเป็นการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองเมื่อกลับประเทศของตนเอง หรือเมื่อไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอื่น ๆ
- จัดการฝึกอบรมแก่ผู้หนีภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ในชุมชน ให้มีความรู้
ความสามารถ ตลอดจน ทักษะในการให้บริการแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
- สนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษา และผู้ด้อยโอกาสได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพ
- ปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน รวมทั้ง การปฏิบัติงานด้านการกำจัดขยะ คัดแยกขยะ ตลอดจนการนำกลับมาใช้ใหม่
- ซ่อมแซมและทำนุบำรุงถนนทางเข้าและถนนภายในพื้นที่พักพิง ฯ ต่าง ๆ ได้แก่ บ้านอุ้มเปี้ยม
บ้านแม่หละ บ้านต้นยาง บ้านแม่ละอูน บ้านแม่ลามาหลวง บ้านใหม่ในสอย บ้านแม่สุริน เป็นต้น
กิจกรรมและการดำเนินงาน
กิจกรรมการให้บริการชุมชนแก่ผู้ด้อยโอกาส:
กิจกรรมบริการชุมชน เน้นการให้ความช่วยเหลือ และ บริการชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่ผู้ด้อยโอกาส อาทิเด็กที่ไร้ผู้ปกครองดูแล ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และ พ่อ หรือ แม่ที่เลี้ยงลูกตามลำพัง กิจกรรมบริการชุมชน ประกอบด้วย
- การอบรมงานด้านจิตสังคมแก่เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ในชุมชน และองค์กรชุมชนในพื้นที่พักพิง ฯ ให้มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจน ทักษะการให้บริการชุมชน
- การจัดการ ดูแลผู้ประสบปัญหาเฉพาะราย (case management) การให้คำปรึกษา และการส่งต่อให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการต่อไป
- การเยี่ยมบ้านผู้ด้อยโอกาสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูแลสภาพความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิต
- การเฝ้าระวังติดตามดูแล ให้ความช่วยเหลือเด็กที่ไร้ผู้ปกครองและเด็กพลัดพราก และส่งเสริมให้ชุมชนตระหนักถึงความจำเป็นในการปกป้องคุ้มครองเด็ก
- กิจกรรมอบรมเชิงสันทนาการเพื่อการรักษาเยียวยาด้านจิตใจ
- การจัดระบบการประสานงานร่วมกับคณะกรรมการชุมชน และองค์กรชุมชนฯในพื้นที่ (เช่น
คณะกรรมการบริหารงานผู้หนีภัย คณะกรรมการสตรี คณะกรรมการเยาวชน ฯลฯ) องค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรม เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ, องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ
(ยูนิเซฟ), หน่วยงานเอกชน และเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
โครงการพิทักษ์สภาพแวดล้อมและการอบรมวิชาการเกษตรและการผลิต:
-ให้การอบรมด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมและปลุกจิตสำนึก ด้วยกิจกรรมรณรงค์และแจกจ่ายแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการคัดแยกขยะ การนำหรือดัดแปลง
สิ่งของใช้แล้วให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก และการปลูกป่าเป็นแนวกันไฟเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า และเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน
- มีการฝึกอบรมการปลูกพืชผักชีวภาพ และเพาะเห็ดเพื่อเป็นอาหาร การแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืช กล้าไม้ และเครื่องมือการเกษตร สนับสนุนแปลงเกษตรชุมชน เพื่อให้ผู้หนีภัย ฯ เกิดทักษะการทำเกษตรกรรมยั่งยืน และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เมื่อกลับประเทศ
- ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่พักพิง ฯ และ องค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าระงับเหตุฉุกเฉินที่จะก่ออันตราย และปกป้องสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านโดยกลุ่มผู้สูงอายุ:
- จัดกิจกรรมชุมนุมกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้เป็นเวทีถ่ายทอดงานศิลปวัฒนธรรมและหัตถกรรมดั้งเดิมให้แก่บุตรหลานได้ สืบสาน เพื่อธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมทั้งกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าของกลุ่มผู้สูงอายุ
- ให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยหรือขาดแคลน
กิจกรรมสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส:
ด้วยการแจกจ่ายเครื่องใช้จำเป็นดังต่อไปนี้
- ชุดของใช้ประจำวันแก่เด็กที่ไร้ผู้ปกครองดูแล ได้แก่ สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผงซักฟอก เป็นต้น
- เสื้อกันหนาว
- รองเท้าแตะและร่ม
- ผ้าห่มสำหรับผู้สูงอายุ
- กางเกงแบบพื้นเมือง และโสร่งสำหรับผู้สูงอายุ
- ชุดนักเรียน
กิจกรรมการพึ่งพาตนเองและเตรียมตัวกลับภูมิลำเนา:
- การทำสบู่ใช้เอง
-
การทำเทียนไข
- การผลิตเครื่องมือการเกษตร
- การทำยาหม่อง
การซ่อมบำรุงถนน:
- กิจกรรมซ่อมแซมและทำนุบำรุงถนนทางเข้าและถนนภายในพื้นที่พักพิง ฯ ต่าง ๆ ได้แก่
บ้านอุ้มเปี้ยม บ้านแม่หละ บ้านต้นยาง บ้านแม่ละอูน บ้านแม่ลามาหลวง บ้านใหม่ในสอย และบ้านแม่สุริน เป็นต้น
- กิจกรรมการฝึกอบรมกลุ่มอาสาสมัครผู้หนีภัย ในพื้นที่พักพิง ฯ ในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมถนน
การจัดการขยะในพื้นที่พักพิงฯ โดยชุมชนมีส่วนร่วม:
- ให้การอบรมแก่กลุ่มอาสาสมัครผู้หนีภัย ในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ
- สร้างความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้วิธีการทำงาน และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
- มีโรงปฏิบัติงานคัดแยกขยะและการนำส่วนที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ประโยชน์อีก
- มีกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่มีรากลึก เพื่อยึดหน้าดินป้องกันหน้าดินพังทลาย
- จัดให้ชุมชนทำความสะอาดพื้นที่พักพิงฯ และบริเวณลำน้ำเป็นประจำ
โครงการแจกจ่ายอุปกรณ์การศึกษา:
- แจกจ่ายอุปกรณ์การศึกษาและเครื่องกีฬาแก่โรงเรียนในพื้นที่ ฯ
โครงการสำหรับราษฎรไทยใกล้พื้นที่พักพิง:
- โครงการสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสที่ขาดแคลนในหมู่บ้านเป้าหมาย
- แจกจ่ายอุปกรณ์กีฬาให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนในหมู่บ้านเป้าหมาย
- จัดให้ชุมชนทำความสะอาดลำน้ำและถนนจากพื้นที่ ฯ แม่หละ ถึง หมู่บ้านแม่ออกฮูเป็นประจำ
- สนับสนุนการจัดการขยะโดยชุมชนมีส่วนร่วม ใน 5 ชุมชนใกล้พื้นที่พักพิงฯ แม่หละ ได้แก่
ชุมชนแม่หละไทย แม่ลายาง แม่ออกฮู ห้วยนกกก และแม่ออกผารู
- การบูรณาการโครงการอนุรักษ์และโครงการพัฒนา ได้แก่ การบูรณาการแนวปฏิบัติเกษตรยั่งยืน
เข้ากับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โครงการสงเคราะห์ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง
- กิจกรรมการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเขตเมือง ผ่านศูนย์สงเคราะห์ผู้ลี้ภัยในเมือง ประกอบด้วย งานสังคมสงเคราะห์ และสนับสนุนปัจจัยยังชีพ การให้ศึกษา การบริการทางการแพทย์แก่ผู้ลี้ภัยในเมืองและผู้อยู่ระหว่างการพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัย
- กิจกรรมสงเคราะห์ผู้ต้องกักชาวต่างชาติ ที่สถานกักตัวคนต่างด้าว ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ ประกอบด้วย การแจกจ่ายอาหารเสริม ของใช้ในชีวิตประจำวัน และอุปกรณ์ทำความสะอาด การบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า ระบบน้ำในห้องกัก ตลอดจนการให้บริการทางสังคม อาทิ กิจกรรมเร่งรัด
ช่วยเหลือผู้ต้องกักกลับภูมิลำเนา การบริการไปรษณีย์ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องกักที่ยากจนได้ติดต่อสื่อสารกับญาติมิตรทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
โครงการเพื่อราษฎรไทยบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
โครงการสงเคราะห์เด็ก:
- โครงการอบรมยุวธรรมทูตแก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ห่างไกลของจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และสระแก้ว
- โครงการทุนการศึกษาเด็กนักเรียนยากจนและขาดแคลนในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา สระแก้ว และสุรินทร์
โครงการอบรมการป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิด:
ให้การอบรมความรู้การป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด และวัตถุระเบิด แก่ชุมชนและเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยังมีทุ่นและวัตถุระเบิดหลงเหลืออยู่
โครงการสงเคราะห์ผู้สูงอายุและผู้พิการ:
มอบเครื่องอุปโภคและบริโภคแก่ผู้สูงอายุ และ ผู้พิการ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปรกติสุข
อาสาสมัครคาทอลิกสงเคราะห์
สำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์) ได้ก่อตั้งกิจกรรม “อาสาสมัครคาทอลิกสงเคราะห์”(อาสาสมัครโคเออร์) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 บนพื้นฐานของจิตตารมณ์แห่งการรักและรับใช้
ผู้ยากไร้ ปัจจุบัน กลุ่มอาสาสมัครประกอบด้วยสมาชิกสภาภิบาลของวัดคาทอลิกที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 17 กลุ่ม กิจกรรมส่วนใหญ่ของกลุ่มอาสาสมัครจะเน้นในด้านการเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ตลอดจนการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ |