โคเออร์แม่สะเรียงจัดการอบรมความรู้ ถอดบทเรียนและสรุปผลการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์เด็ก

   ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 โคเออร์แม่สะเรียงได้จัดการอบรมบุคลากรที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ภาคชุมชนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ

   ในวันที่ 12-14 พฤศจิกายน มีการอบรมเพิ่มทักษะความรู้เรื่องการจัดการรายกรณี เรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็ก ระบบการส่งต่อเพื่อการคุ้มครองและเครื่องมือ การใช้แบบประเมินสภาวะเด็กและครอบครัว หลักการทำงานสังคมสงเคราะห์ ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเขียนแผนผังครอบครัว ที่พื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ บ้านแม่ลามาหลวง มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 17 คน เป็นหญิงจำนวน 12 คน ชายจำนวน 5 คน และที่บ้านแม่ละอูน มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 16 คน เป็นหญิงจำนวน 9 คน ชายจำนวน 7 คน

   วันที่ 26 และ 28 พฤศจิกายน เป็นการประชุมและอบรมการถอดบทเรียน เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาในการดำเนินงานต่อไป มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่แม่ลามาหลวง จำนวน 25 คน และ ที่แม่ละอูนจำนวน 35 คน

   ปิดท้ายด้วยการประชุมสรุปผลการทำงานสังคมสงเคราะห์ของปี 2562 ในวันที่ 3 ธันวาคม ที่บ้านแม่ลามาหลวง และ วันที่ 4 ธันวาคม ที่บ้านแม่ละอูน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 12 พฤศจิกายน มีการอบรมให้เข้าใจเนื้อหาของงานสังคมสงเคราะห์ ความรู้เรื่องของการจัดการรายกรณี
และการส่งต่อเด็กเข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือ

วันที่ 13 พฤศจิกายน เพิ่มความรู้ความเข้าใจเรื่องระบบการส่งต่อเพื่อการคุ้มครองเด็ก

   วันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นการสรุปความรู้ด้านการจัดการรายกรณี ครอบคลุมเนื้อหาที่สำคัญคือ การรับแจ้งเหตุ การประเมินความเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือ การสืบค้นหาข้อเท็จจริง การประเมินสภาวะเด็กและครอบครัว การวางแผนและการดำเนินการตามแผน ตลอดจนการติดตามงาน จนประสบผลสำเร็จ

   การประชุมบุคลากรในงานสังคมสงเคราะห์เด็กในวันที่ 26 ที่บ้านแม่ลามาหลวง และ วันที่ 28 พฤศจิกายน ที่บ้านแม่ละอูน มีช่วงถอดบทเรียนด้วยกิจกรรมวาดภาพเด็ก โดยแบ่งผู้ร่วมประชุมออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 วาดรูปหัว กลุ่มที่ 2 วาดรูปลำตัว กลุ่มที่ 3 วาดรูปแขน กลุ่มที่ 4 วาดรูปช่วงเอวและขา เมื่อวาดรูปเสร็จแล้วให้นำแต่ละส่วนออกมาต่อกัน

   จากนั้นช่วยกันดูภาพรวม พบว่า ภาพของเด็กที่ประกอบแล้ว มีส่วนหัว ลำตัว แขน ขา ที่ไม่สมส่วน

   จากนั้นได้ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมระดมความคิดและช่วยกันตอบได้ผลว่า ส่วนหนึ่งเพราะแต่ละกลุ่ม ต่างคนต่างทำ ไม่มีการตกลงและพูดคุยกันก่อน ไม่ได้สื่อสารกัน ฯลฯ วิทยากรได้เชื่อมโยงไปถึงการทำงานในการส่งต่อเคส ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน

   ผู้ร่วมกิจกรรมระดมสมองว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อการทำงานที่ดีขึ้นในปี 2020 ควรจะประกอบด้วย การพูดคุยสื่อสารกันมากขึ้น ความเสียสละในการทำงาน ความจริงใจในการทำงาน การแบ่งบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน การหาข้อมูลที่ละเอียดและน่าเชื่อถือ การหาความรู้ทักษะในการทำงานที่เพิ่มขึ้น การติดตามผล เป็นต้น

   ต่อมาเป็นกิจกรรมสร้างกำลังใจในการทำงาน ด้วยการเล่านิทานเรื่องของถังน้ำสองใบ ถังใบที่หนึ่งรั่ว และตักน้ำได้น้อย รู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่เหมือนเพื่อนถังน้ำอีกใบที่ไม่รั่วตักน้ำให้เจ้าของได้มาก ทางเจ้าของจึงได้ให้ถังน้ำใบรั่วลองมองไปข้างทางที่ตนเองผ่านมา จะพบว่าข้างทางที่น้ำรั่วนั้น ได้ไปรดดอกไม้ข้างทางทำให้มันสวยงาม

   โดยสรุปนิทานเรื่องนี้อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตนเอง รวมทั้งงานที่ทำซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพบเจอปัญหา แต่อยากให้มองเห็นผลและอนาคตของเด็กในชุมชนที่จะเป็นกำลังของชุมชนในอนาคตต่อไป