โคเออร์แม่สอดจัดการอบรมปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “ ใคร ๆ ก็ทำได้ ”

ในช่วงเดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน 2556 โครงการสิ่งแวดล้อมของโคเออร์ ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยจากการสู้รบ บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก  ได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม  พร้อมทั้งจัดทำโครงการสร้างจิตสำนึก 3-R’s make a cleaner environment…Everyone can do  ขึ้นเพื่อให้ความรู้  ความเข้าใจ  รณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนรู้จักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  ให้เห็นถึงความสำคัญของ  3R คือ Reduce Reuse และ Recycle  เพื่อเป็นพื้นฐานการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ด้วยการคัดแยกขยะ เพื่อนำสิ่งที่ใช้แล้ว กลับมาดัดแปลงให้เป็นของใช้ได้อีก ตลอดจนการรณรงค์ทำความสะอาดพื้นที่พักพิง  และ ร่องน้ำที่ไหลผ่านชุมชน ให้เป็นแหล่งน้ำที่สะอาด ปราศจากมลพิษต่อไป

 

เริ่มต้นการอบรมด้วยกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้เข้าอบรมและชี้แจงเนื้อหากับวัตถุประสงค์ของการอบรม

อธิบายความหมายและคุณค่าของขยะรวมทั้งนำมา Recycle ด้วยการประดิษฐ์ดอกไม้จากหลอดดูดกับขวดน้ำที่ใช้แล้วซี่งพบเห็นในชุมชน

ประโยชน์ที่ผู้ลี้ภัยได้รับจากกิจกรรม 3R คือชุมชนที่อยู่อาศัยมีความสะอาดมากขึ้น คนในชุมชนมีสุขภาพดี อีกทั้งเยาวชนในชุมชนมีรายได้จากการคัดแยกขยะนำไปขาย และเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมที่อาศัยอยู่ เมื่อรับการอบรมเสร็จแล้ว ได้มีการถ่ายภาพร่วมกัน จากนั้นผู้ให้การอบรมมอบอุปกรณ์การทำความสะอาดให้แก่ผู้รับการอบรมทุกคน ซึ่งต่างสัญญาว่าจะพยายามคัดแยกขยะในครัวเรือนมากขึ้นด้วย

การอบรมสิ่งแวดล้อมศึกษาที่โรงเรียนในพื้นที่พักพิงแม่หละเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 มีผู้เข้ารับการอบรม 202 คน

กิจกรรมการจัดอบรมเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556

กิจกรรมรณรงค์ 18 ตุลาคม 2556

เมื่อวันที 14 ตุลาคม จัดกิจกรรมทำความสะอาดต้นน้ำลำธารเป็นการรณรงค์ให้ชุมชนตระหนักถึงผลกระทบในการทิ้งขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ รู้จักเห็นอกเห็นใจชุมชนหมู่บ้านไทยที่ได้รับผลกระทบจากการทิ้งขยะที่ไม่ถูกต้อง เล็งเห็นความสำคัญในการคัดแยกขยะจากครัวเรือนสู่ชุมชนอย่างเป็นขั้นตอน เกิดความสามัคคีและทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัย โคเออร์ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่บ้านแม่หละ ได้ร่วมรณรงค์จัดการขยะที่ร่องน้ำของบ้านแม่หละ ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทำให้การดำเนินการสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็ว ยังประโยชน์ต่อชุมชนผู้ลี้ภัยที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น และส่งผลถึงชุมชนไทยซึ่งลำน้ำไหลผ่านอีกด้วย

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ผู้ลี้ภัยจำนวน 400 คน ช่วยกันทำความสะอาดชุมชนแม่หละตามแม่น้ำลำคลอง สะพานและสองข้างถนนตั้งแต่เขตป่าไม้ ถึงด่าน เข้าไปในหมู่บ้านแม่หละไทย