1) โคเออร์แม่สอดจัดอบรมสิทธิและหน้าที่เด็กและเยาวชนที่แม่หละในเรื่องเรียนรู้และรับผิดชอบต่อการป้องกันไฟ
สืบเนื่องจากกรณีไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่พื้นที่พักพิง ฯ บ้านแม่สุริน สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ประกอบกับในพื้นที่พักพิง ฯ ทั้งสามแห่งของจังหวัดตากก็ประสบเพลิงไหม้หลายครั้งในปีนี้ เช่น ที่บ้านนุโพ อ. อุ้มผาง ได้เกิดไฟไหม้แล้ว 8 ครั้ง ที่บ้านอุ้มเปี้ยม อ. พบพระ 5 ครั้ง ส่วนที่บ้านแม่หละ อ. ท่าสองยาง 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้ง ผู้ลี้ภัยได้อาศัยอุปกรณ์ดับเพลิงของสถานีดับเพลิงที่โคเออร์ได้มอบให้ ทำการดับเพลิงได้ทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลาม จากข่าวไฟไหม้บ้านสุริน และการที่ไฟไหม้พื้นที่ต่างๆ รวมถึงแม่หละเองได้เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความเอาใจใส่ เนื่องจากในพื้นที่พักพิง ฯ มีความเสี่ยงภัยสูงจากการที่บ้านเรือนและเครื่องใช้ในบ้านล้วนสร้างด้วยวัตถุติดไฟง่ายทั้งสิ้น
ดังนั้น โคเออร์และหน่วยงานในพื้นที่พักพิง ฯ ที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดการให้ความรู้ด้านการป้องกันไฟ ขยายไปถึงเด็กและเยาวชน
ในการเปิดการอบรมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 หัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยในพื้นที่พักพิง แม่หละโซนเอได้กล่าวให้ข้อคิด แก่เด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมจำนวน 125 คน รวมทั้งบุคลากรชุมชนผู้ลี้ภัยได้แก่ เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ชุมชน 2 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 8 คน หัวหน้าคุ้ม 2 คน กรรมการพื้นที่พักพิง ฯ 1 คน เจ้าหน้าที่พื้นที่พักพิง ฯ 15 คน และอาสาสมัครชาวต่างประเทศของโคเออร์ อีก 2 คน รวมเป็น 155 คน ข้อคิดดังกล่าวมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนต้องรู้จักสิทธิรู้จักใช้ชีวิตให้มีคุณค่า และมีหน้าที่ต้องไปโรงเรียนใฝ่หาความรู้ ดูแลตนเองให้พ้นจากอบายมุข ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เช่น การตั้งใจเรียนรู้เรื่องการป้องกันไฟไหม้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจเรียนรู้และนำสิ่งที่ได้รับไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน โดยมีสาระสำคัญของการเรียนรู้ภาคเช้านี้คือ
- ภัยอันตรายจากไฟไหม้
- สาเหตุการเกิดไฟ จากธรรมชาติ จากมนุษย์ ความประมาท
- องค์ประกอบของไฟ 3 อย่างคือ ออกซิเจน ความร้อน และเชื้อเพลิง
- ประเภทของไฟ 4 ประเภท A B C D ตามมาตรฐานสากล (เชื้อเพลิงที่เป็นของแข็ง ของเหลว ก๊าซ และ ภาชนะโลหะ)
- วิธีการดับไฟ คือการแยกองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างออกจากกันด้วยวิธีการต่างๆ
- วิธีการใช้อุปกรณ์ดับไฟ เช่น ไม้ตะขอ ไม้ตบไฟ ถุงน้ำ ถุงทราย ถังดับเพลิง
- การเตรียมอุปกรณ์และการป้องกันเหตุ
- การปฏิบัติเมื่อเกิดไฟไหม้ การแจ้งเตือนภัย การร้องขอความช่วยเหลือ การแบ่งบทบาทหน้าที่ของชุมชน การหนีไฟ
- การสร้างความสามัคคีในชุมชน ทำให้การป้องกันเกิดผลดีที่สุด
จากนั้นช่วงบ่าย ได้นำเด็กและเยาวชนเดินขึ้นเนินเขารอบพื้นที่พักพิงเพื่อปรับพื้นที่ทำแนวกันไฟซึ่งจะสามารถยับยั้งมิให้ไฟจากไร่ภายนอกพื้นที่ลามเข้ามาในพื้นที่ได้
ส่วนที่พื้นที่พักพิง ฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ. พบพระ นั้น กระทรวงมหาดไทยได้ออกมาตรการป้องกันไฟไหม้ในพื้นที่ ฯ ดังนี้ ห้ามก่อไฟ ในยามวิกาลหลัง 20.00 น. ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นหลัง 21.00 น. และให้ดับไฟหลัง 22.00 น. นอกจากนี้ ให้ทุกบ้านแขวนถุงพลาสติกใส่น้ำ 20 ถุง ถุงทราย 20 ถุง ตะขอเกี่ยวไฟ 1 อัน และ ไม้ตีดับไฟ 1 อัน เพื่อเตรียมรับมือกรณีเกิดไฟไหม้ นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมขึ้นเขาไปทำแนวกันไฟรอบพื้นที่พักพิง ฯ เพื่อป้องกันมิให้ไฟป่า หรือไฟจากไร่สวนนอกพื้นที่ฯ ลามเข้ามาในพื้นที่อีกด้วย
2) สำนักงานโคเออร์แม่สอดจัดกิจกรรมสร้างฝายน้ำล้นเพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง ในพื้นที่พักพิง ฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ. พบพระ จ. ตาก
โดยในวันที่ 28-29 มีนาคม 2556 เจ้าหน้าที่ โคเออร์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับชุมชนรวม 35 คน ร่วมกับผู้ลี้ภัยทั้ง ผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชน จำนวน 250 คน ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างฝายน้ำล้น 5 จุด โดยเริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมของโคเออร์จัดประชุมให้ความรู้เรื่องการสร้างฝายน้ำล้นอย่างง่ายแก่ผู้ลี้ภัย ที่เข้าร่วมกิจกรรม ที่สำนักงาน จากนั้นแบ่งผู้ลี้ภัย ออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มรับมอบอุปกรณ์ ได้แก่ จอบ เชือกฟาง และกระสอบ แล้วเดินทางไปยังจุดที่กำหนดให้ เพื่อปฏิบัติงานสร้างฝาย 5 จุด ในโซน เอ และ บี
ฝายน้ำล้นนี้ จะสามารถรองรับน้ำในฤดูฝนที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้งต่อไป
|